News

ข้อควรรู้ ก่อนสร้างและซ่อมบำรุงต่อเติมบ้าน เพื่อบ้านเย็น อยู่สบาย

ข้อควรรู้ ก่อนสร้างและซ่อมบำรุงต่อเติมบ้าน เพื่อบ้านเย็น อยู่สบาย หลายๆท่าน อาจจะเคยประสบปัญหา อากาศภายในบ้านร้อน อยู่ไม่สบาย ทำให้เปลืองค่าไฟฟ้าสำหรับเครื่องปรับอากาศ พาลเอาชีวิตในบ้าน ร้อนอกร้อนใจตามๆ กันไปด้วย

วันนี้เราจึงมานำเสนอ 6 วิธีการทำให้บ้านเย็น สำหรับคนที่มีโอกาสได้ต่อเติมบ้าน หรือคนที่กำลังเลือกซื้อบ้าน หากได้คุยกับสถาปนิกผู้ออกแบบ ท่านจะได้สามารถร่วมออกความเห็นกับสถาปนิกได้อย่างผู้มีความรู้

วิธีที่ 1 ลดรังสีความร้อนด้วยการออกแบบและการวางผังอาคาร

การออกแบบด้วยการเลื่อนผนังเข้าด้านในลึกๆ เพื่อให้ลดส่วนที่ผนังต้องปะทะกับแสงแดดโดยตรง

รวมถึงการออกแบบที่มีการคำนึงถึงทิศทางของแสงแดดในเวลาต่างๆไว้ล่วงหน้า นอกจากจะช่วยป้องกันแสงแดดเข้าสู่ตัวอาคารแล้วยังช่วยให้เราสามารถเลือกพื้นที่ที่จะใช้ในเวลาต่างๆกันได้อีกด้วย

เช่น การวางส่วนที่ต้องการรับแสงแดดอย่างห้องน้ำหรือลานซักล้างไว้ทิศทางที่ต้องการโดนแดด

การเลือกห้องที่ใช้บ่อยที่สุดอย่างห้องนั่งเล่นไปไว้ในทิศที่โดนแดดน้อยที่สุด

รู้แค่นี้คุณก็คุยและช่วยออกความเห็นให้สถาปนิกออกแบบการจัดวางผังบ้านได้ดีขึ้นแล้ว

วิธีที่ 2 ลดรังสีความร้อนด้วยการปลูกต้นไม้รอบบ้าน

การปลูกต้นไม้รอบๆ บ้านก็เปรียบเสมือนการกางร่มให้กับบ้าน ร่มไม้ย่อมช่วยป้องกันไม่ให้แสงแดดสัมผัสกับผิวอาคารโดยตรงแล้ว ยังช่วยให้บ้านมีความสวยงามน่าอยู่อีกด้วย

การปลูกไม้ยืนต้นเพื่อบังแดด ควรคำนึงถึงทิศทางของแดดในประเทศไทย ซึ่งมีแสงแดดหลักมาจากทิศตะวันตก และทิศใต้

ไม้ยืนต้นที่ชนิดที่เหมาะสำหรับป้องกันแดดสำหรับบ้านที่ไม่สูงมาก เช่น ต้นอโศก เหมาะสำหรับพื้นที่แคบ มะฮอกกานี เหมาะกับบ้าน 2-3ชั้น หรืออาจจะพิจารณาต้นมะม่วงที่นอกจากกจะช่วยเป็นป้องกันแสงแดดแล้วยัง สามารถมีผลให้เรารับประทานได้อีกด้วย (คราวหน้า เราจะมาว่ากันเรื่องการเลือกต้นไม้ ที่เหมาะสำหรับป้องกันความร้อนเข้าบ้านแบบละเอียด หากใครอยากทราบช่วยทิ้งคอมเมนต์ไว้หน่อยนะครับ)

วิธีที่ 3 การลดรังสีความร้อนด้วยการสร้างระแนงไม้เลื้อย

วิธีนี้เหมาะทั้งสำหรับผู้ที่อยากต่อเติมบ้าน และผู้ที่กำลังสร้างบ้านใหม่ ระแนงไม้เลื้อยนอกจากสวยงามร่มรื่นช่วยป้องกันแสงแดดปะทะเข้าที่ผนังอาคารแล้ว

ยังมีความโปร่งและเป็นธรรมชาติ อาจจะต้องเพิ่มการดูแลรักษาบ้าง แต่สำหรับคนที่รักธรรมชาติและความสวยงามก็ถือว่าการดูและรักษาต้นไม้นั้นเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ สนุกสนานสำหรับคนในครอบครัว

ส่วนไม้เลื้อยที่น่าสนใจ ก็อย่างเช่น การะเวกซึ่งมีดอกหอมสีเหลือง สร้อยอินทนิลมีดอกสีม่วงอมขาว พวงโกเมนดอกสีส้มอมแดง ม่านบาหลี ทีมีลักษณะสวยงามแบบTropical จะเห็นได้ว่า การเลือกไม้เลื้อยก็ช่วยให้บ้านเราสวยงามและเบิกบานใจจากพันธุ์ไม้สีต่างๆ

วิธีที่ 4 การลดรังสีความร้อนด้วยการเลือกใช้สีและวัสดุมุงหลังคา

หลังคาเป็นส่วนที่ได้รับแสงอาทิตย์โดยตรงสูงที่สุด ดังนั้นหากเป็นบ้านที่เราสามารถคุยกับสถาปนิกได้เอง ให้ลองเลือกใช้วัสดุมุงหลังคาที่มีสีอ่อน เพราะหลังคาสีอ่อน สามารถสะท้อนความร้อนออกจากบ้านได้สูงสุดถึง 90% ขณะที่หลังคาสีเข้ม อาจจะสะท้อนความร้อนออกไปได้เพียง 20%

รวมถึงการออกแบบให้หลังคามีช่องทางสำหรับระบายอากาศ ก็ช่วยให้การถ่ายเทความร้อนออกจากหลังคาก่อนจะผ่านเข้าสู่ตัวบ้านได้ดียิ่งขึ้นด้วย

ในช่วงฤดูร้อน หลังคาที่ถูกแดดมากๆอาจจะมีอุณหภูมิขึ้นไปสูงถึง 63-80 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว

เพราะฉะนั้นการเลือกสีหลังคาจึงส่งผลอย่างมากต่อความเย็นภายในบ้าน แต่ถ้าเราไม่สามารถเลือกสีกระเบื้องหลังคาได้จริงๆ เนื่องจากหลายๆ ปัจจัย เช่น เรื่องความสวยงาม กฏระเบียบข้อตกลงของชุมชน ให้ลองพิจารณาการใช้แผ่นสะท้อนความร้อน และ ฉนวนกันความร้อนภายใต้หลังคา ก็จะช่วยให้การป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวอาคารผ่านทางหลังคาได้ดียิ่งขึ้น

วิธีที่ 5 ระวังพื้นที่ช่องเปิด ที่มีขนาดใหญ่เกินไป

ช่องเปิดขนาดใหญ่ มักจะเป็นที่นิยมในบ้านที่ได้รับการออกแบบโดยเฉพาะ เนื่องจากผนังกระจกช่วยเพิ่มความกว้าง และวิวที่สวยงามให้กับบ้านพักอาศัย

แต่สิ่งที่ตามมานอกจากวิวจากภายนอกคือแสงสว่างและความร้อน หากหลีกเลี่ยง การมีกระจกในผนังที่
รับแดดโดยตรงไม่ได้ ให้เลือกใช้ กระจกสีเข้ม กระจกติดฟิล์มกรองแสง หรือการใช้กระจกสองชั้น เพื่อกรองแสงและกันความร้อนลง

รวมถึงการใช้ม่านบังกระจกก็ช่วยได้ส่วนหนึ่ง ถ้าผ้าม่านมีความหนาทึบเพียงพอ และสามารถสะท้อนความร้อนได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นความร้อนได้ผ่านกระจกเข้ามาในอาคารแล้ว การป้องกันจากภายในก็สู้การป้องกันจากภายนอกไม่ได้ เช่นการใช้ระแนงบังตา หรือกันสาด

วิธีที่ 6 การเลือกวัสดุกันความร้อนที่ผนังอาคาร

ผนังเมื่อโดนความร้อนแล้ว ความร้อนก็จะค่อยๆส่งผ่านอุณหภูมิเข้าไปด้านในอาคาร การที่ผนังมีค่าต้านทานความร้อนสูง จะช่วยให้ความร้อนส่งผ่านเข้ามายังภายในอาคารได้ช้าลง เราจึงไม่รู้สึกร้อน พอตอนกลางคืนอากาศภายนอกเริ่มเย็นลง ความร้อนที่อมอยู่ในผนังก็คลายความร้อนออกสู่ภายนอกอาคารผนังที่ทำจากวัสดุที่มีคุณสมบัติหน่วงความร้อนสูงบางครั้งอาจจะเป็นผนังที่มีความหนามาก(เช่นผนังอุโบสถ) ก็จะหน่วงความร้อนได้ดีขึ้นบ้าง แต่ย่อมนำมาซึ่งน้ำหนักที่มากและสิ้นเปลืองโครงสร้าง

แต่ในปัจจุบันการใช้อิฐมวลเบาที่มีค่าต้านทานความร้อนสูง ก็สามารถใช้เพื่อทดแทนฉนวนกันความร้อนได้ดี แถมยังสามารถก่อสร้างได้รวดเร็วและประหยัดโครงสร้างมากกว่าการใช้อิฐมอญอีกด้วย

มีความเข้าใจผิดว่าในหมู่ผู้รับเหมาตกแต่งอาคารรวมถึงเจ้าของบ้านว่า อิฐมวลเบา G4(ชั้นคุณภาพ 4) มีคุณสมบัติที่ดีกว่า อิฐมวลเบา G2 (ชั้นคุณภาพ2) เพราะมีความแข็งแรงมากกว่า