News

ยอดป่วยโควิดสหรัฐฯ พุ่ง กลุ่มคนไม่ฉีดวัคซีนเสี่ยงสูง พบโควิดเดลตาระบาดในหลายรัฐ

ยอดป่วยโควิดสหรัฐฯ พุ่งในกลุ่มคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ใน 50 รัฐทั่วประเทศ ตัวเลขที่พุ่งสูงขึ้นถูกยกให้เป็น “การแพร่ระบาดของผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีน” ประชาชนอาจต้องกลับมาใส่หน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัดกันอีกรอบ

“ไบเดน” พลาดเป้าชาวอเมริกันวัยผู้ใหญ่ฉีดวัคซีนให้ได้ 70 เปอร์เซ็นต์ภายในวันชาติ สุดท้ายไปไม่ถึงเป้าฉีดไป 65 เปอร์เซ็นต์
ซีดีซี ยังคงยืนยัน “ไฟเซอร์” และ “โมเดอร์นา” ต้านโควิดสายพันธุ์เดลตาได้ แม้ประสิทธิภาพจะลดลง ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนในประเทศเริ่มชะลอตัว

สถานการณ์การแพรระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงเอาแน่เอานอนไม่ได้ หลายประเทศต้องกลับมาเผชิญกับการแพร่ระบาดอีกระลอก ส่วนในสหรัฐอเมริกาตัวเลขผู้ป่วยกลับเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ถึง 26 เปอร์เซ็นต์ เฉลี่ยเสียชีวิต 211 ศพ ต่อวัน สอดคล้องกับยอดผู้ติดเชื้อที่ขยับขึ้น 70 เปอร์เซ็นต์ ในสัปดาห์ที่แล้ว และมียอดเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลพุ่ง 36 เปอร์เซ็นต์

ตัวเลขที่พุ่งสูงขึ้นเกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงติดโรคโควิด-19 มากที่สุด ด้านโรเชลล์ วาเลนสกี แพทย์จากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ หรือ ซีดีซี ระบุว่า การแพร่ระบาดในครั้งนี้เป็นการแพร่ระบาดของผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน โดยพบจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นในรัฐที่มีอัตราการฉีดวัคซีนโควิดต่ำ ขณะที่ชุมชนที่ได้รับการฉีดอย่างทั่วถึงนั้นสถานการณ์ปกติดี ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยที่พุ่งสูงขึ้นนี้ถูกยกให้เป็น “โรคระบาดของผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน”

ตัวเลขที่พุ่งสูงขึ้นในครั้งนี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญมองว่าเกิดจากการฉีดวัคซีนที่ล่าช้า โดยสหรัฐฯ มีผู้ฉีดวัคซีนครบโดส อยู่ที่ 48.8 เปอร์เซ็นต์ ต่อจำนวนประชากร ขณะเดียวกันแพทย์จากซีดีซี ยังคงยืนยันว่าวัคซีนโควิดไฟเซอร์ และโมเดอร์นานั้นมีประสิทธิภาพในการต้านโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ถึงแม้ว่าประสิทธิภาพจะลดลงก็ตาม

รัฐ 5 แห่งที่พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือ อาร์คันซอ ฟลอริดา ลุยเซียนา มิสซูรี และเนวาดา สหรัฐฯ พบผู้ป่วยเฉลี่ย 26,400 ราย ต่อวันในสัปดาห์ที่แล้ว ขยับขึ้นราว 70 เปอร์เซ็นต์จากสัปดาห์ก่อนหน้า ก่อนหน้านี้รัฐฟลอริดาได้ยกเลิกการบังคับใช้มาตรการทางสาธารณสุขเร็วกว่าหลายรัฐ

สหรัฐฯ พลาดเป้า ฉีดวัคซีนช้ากว่าที่คาด

หากย้อนกลับไปสหรัฐอเมริกาได้ประกาศความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยยอดผู้ป่วยโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกาลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา จนเมื่อเดือนพฤษภาคม 64 นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้แถลงว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิดครบโดส ไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยทั้งกลางแจ้งและในร่ม ถือเป็นความสำเร็จของสหรัฐฯ ที่ได้ฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งระหว่างการแถลงนายไบเดน ที่มักจะสวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อเป็นตัวอย่าง ก็ได้แถลงโดยที่ไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย และได้พูดทิ้งท้ายเชิญชวนให้ชาวอเมริกันเข้ารับวัคซีน

แต่ล่าสุดนางวาเลนสกี ได้ระบุว่ารัฐบาลท้องถิ่นที่เผชิญกับยอดผู้ป่วยที่พุ่งสูงขึ้นอาจจะต้องกลับมาทบทวนอีกครั้งว่าการกลับมาสวมใส่หน้ากากอนามัยอาจเป็นสิ่งที่จำเป็นจนกว่าจะสามารถกระตุ้นอัตราการฉีดวัคซีนได้

นอกจากนี้นายไบเดนยังได้ประกาศตั้งเป้าให้ชาวอเมริกันวัยผู้ใหญ่ฉีดวัคซีนอย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ภายในวันชาติ แต่ถึงตอนนี้ได้ผ่านวันชาติสหรัฐฯ ซึ่งตรงกับวันที่ 4 ก.ค. ของทุกปีแล้ว แต่อัตราการฉีดวัคซีนในสหรัฐฯ ยังคงไม่ถึงเป้า

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกามีอัตราการฉีดวัคซีนต่อวันอยู่ที่ 530,000 ราย ต่อจากในช่วงเดือนเมษายน 64 ที่มีการรายงานฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนจำนวน 3 ล้านโดสต่อวัน แสดงให้เห็นว่าอัตราการฉีดวัคซีนในสหรัฐฯ นั้นเริ่มชะลอตัว และมีประชาชนที่อายุมากกว่า 12 ได้ฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 โดสจำนวน 65 เปอร์เซ็นต์ พลาดจากเป้าที่ตั้งไว้ที่ 70 เปอร์เซ็นต์ไปอย่างน่าเสียดาย ส่วนประชาชนที่ฉีดวัคซีนครบโดสอยู่ที่ 56.6 เปอร์เซ็นต์

นายแพทย์เฟาซี ยันวัคซีนลดการแพร่ระบาด

ท่ามกลางการถกเถียงเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนต่อการต้านโรคโควิด-19 ด้านนายแพทย์แอนโทนี เฟาซี หัวหน้าทีมแพทย์ที่ปรึกษาของนายไบเดน ระบุว่าผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแต่ติดโรคโควิด-19 หลังฉีดวัคซีนไปแล้ว (Breakthrough Infection) นั้นจะได้รับการป้องกันจากอาการป่วยรุนแรงจากโรคโควิด-19 และมีความเป็นไปได้ที่จะแพร่เชื้อโควิด-19 ในระดับต่ำ ซึ่งผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการแต่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ก่อนติดโรคมีปริมาณของเชื้อไวรัสในโพรงจมูก น้อยกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ขณะเดียวกัน ซีดีซี ยังพบว่า 97 เปอร์เซ็นต์ ของชาวอเมริกันที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหลังจากมีอาการของโรคโควิด-19 เป็นผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน

ขณะเดียวกันด้านสำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น ชี้ว่า เหตุผลที่เกิดความลังเลที่จะฉีดวัคซีนเกิดจากความไม่เชื่อมั่นและข้อมูลเท็จ ซึ่งกว่าครึ่งของจำนวนผู้ที่ลังเลและตัดสินใจไม่ฉีดวัคซีนให้เหตุผลว่าไม่มั่นใจในวัคซีน และยังพบว่ามีผู้ที่ตัดสินใจไม่ฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม 64 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า เกิดจากการขาดการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งสื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นแหล่งกระจายข้อมูลเท็จที่ส่งผลต่อความเป็นความตายของผู้คน

กังวล “เดลตา” ระบาดในหลายรัฐ

อีกหนึ่งตัวร้ายที่เป็นตัวการให้ยอดผู้ป่วยกลับมาพุ่งสูงในหลายประเทศคือโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ที่ถูกพบครั้งแรกในประเทศอินเดีย ด้านนายแพทย์เฟาซี ชี้ว่า ในหลายพื้นที่ของสหรัฐฯ พบว่ามีผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่บางพื้นที่นั้นมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล และผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงติดโรคสูงที่สุด

ตัวอย่างเช่นในรัฐอาร์คันซอ ที่มีประชากรเพียง 35.1 เปอร์เซ็นต์ ฉีดวัคซีนครบโดส พบว่าโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาได้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วจนเตียงโรงพยาบาลเต็ม และมียอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเท่าตัวในทุกๆ 10 วัน ซึ่งหนทางการยับยั้งการแพร่ระบาดที่สามารถทำได้คือเข้ารับการฉีดวัคซีนต้านโรคโควิด-19 รักษาชีวิต