News

Weekend Focus : จับตาสงคราม ‘การทูตวัคซีน’ สหรัฐฯ เปิดเกมรุกแซงหน้าพญามังกร

สหรัฐฯ และกลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ G7 อื่นๆ ต่างเร่งกำลังการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อไล่หลังจีนในการบริจาคช่วยเหลือประเทศยากจน หลังจากที่ปล่อยให้พญามังกรใช้อำนาจอ่อน (soft power) ช่วงชิงความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ในช่วงโรคระบาดมานานพักใหญ่

ปฏิเสธไม่ได้ว่าครึ่งแรกของปี 2021 ถือเป็นนาทีทองสำหรับยุทธศาสตร์ “การทูตวัคซีน” (vaccine diplomacy) ของจีน เนื่องจากสหรัฐฯ และมหาอำนาจตะวันตกส่วนใหญ่ต่างทุ่มเททรัพยากรที่มีทั้งหมดไปกับการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่พลเมืองของตนเอง และไม่มีวัคซีนเหลือเผื่อแผ่ให้แก่ประเทศอื่นๆ มากนัก ในขณะที่วัคซีนทางเลือกของรัสเซียและอินเดียก็ยังมีอยู่อย่างจำกัด

ในทางตรงกันข้าม สถานการณ์โควิด-19 ในจีนที่อยู่ในภาวะควบคุมได้มานานหลายเดือนทำให้รัฐบาลสามารถเพิ่มกำลังผลิตวัคซีนจนมีมากพอที่จะส่งออก หรือบริจาคให้แก่กลุ่มประเทศยากจน ซึ่งไม่มีหนทางจะจัดหาวัคซีนคุณภาพสูงมาใช้ได้ในเวลานั้น และกลายเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือเพียงรายเดียวที่หลายๆ ประเทศจะพึ่งพาได้

วัคซีนที่จีนบริจาคส่วนใหญ่ถูกส่งให้กลุ่มประเทศที่เข้าร่วมโครงการ “แถบและเส้นทาง” (Belt and Road) โดยเฉพาะกัมพูชาและฟิลิปปินส์ซึ่งได้รับมากกว่าใครๆ ตามข้อมูลจากหน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจ Economist Intelligence Unit (EIU) ของนิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์

กระทรวงการต่างประเทศจีนไม่เคยระบุจำนวนวัคซีนที่มอบให้แต่ละประเทศ ทว่า ได้เปิดเผยข้อมูลเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า มีการส่งมอบวัคซีนแก่ประชาคมโลกไปแล้วมากกว่า 350 ล้านโดส ในจำนวนนี้เป็นวัคซีนที่มอบให้ประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 100 ล้านโดส

อย่างไรก็ตาม ช่วงนาทีทองของจีนดูเหมือนจะใกล้หมดลงเต็มที เนื่องจากสหรัฐฯ เริ่มมีวัคซีนเหลือเกินความต้องการในประเทศ และหันมาแบ่งปันให้แก่ชาติอื่นๆ แถมยังเป็นวัคซีนที่ขึ้นชื่อว่ามีประสิทธิภาพสูงในการต่อต้านโควิด-19 อีกด้วย

สหรัฐฯ ประกาศแผนบริจาควัคซีนจำนวน 80 ล้านโดสให้แก่ประเทศต่างๆ ภายในสิ้นเดือน ก.ค. โดยจะเป็นวัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค โมเดอร์นา และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน รวมกันทั้งหมด 20 ล้านโดส ส่วนที่เหลืออีก 60 ล้านโดสเป็นวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งสหรัฐฯ เองยังไม่ได้อนุมัติรับรองการใช้งานในประเทศ

ระหว่างการประชุมซัมมิต G7 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ยังประกาศจะสั่งซื้อวัคซีนไฟเซอร์เพิ่มอีก 500 ล้านโดส เพื่อนำไปบริจาคให้แก่กลุ่มประเทศยากจน โดยจะทยอยส่งมอบวัคซีนตั้งแต่ช่วงเดือน ส.ค.นี้ เรื่อยไปจนตลอดครึ่งแรกของปี 2022

ขณะเดียวกัน ประเทศ G7 อื่นๆ ก็ขานรับแนวทางของอเมริกา และต่างให้สัญญาว่าจะบริจาควัคซีนรวมกัน 1,000 ล้านโดส

ดร.หวง เหยียนจง จากสภาความสัมพันธ์ต่างประเทศ (Council on Foreign Relations – CFR) ในสหรัฐฯ ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์สเตรทไทม์สว่า “ความมุ่งหมายสำคัญข้อหนึ่งในนโยบายต่างประเทศของโจ ไบเดน ก็คือการฟื้นฟูสถานะความเป็นผู้นำโลกของอเมริกา และวิธีที่ง่ายมากในตอนนี้คือการบริจาควัคซีน เนื่องจากสหรัฐฯ มีศักยภาพเพียงพอแล้ว และมีแรงจูงใจทางการเมืองที่จะทำด้วย”

สำหรับจีนแล้ว การส่งวัคซีนช่วยเหลือประเทศอื่นคือวิธีที่จะแสดงให้กลุ่มชาติที่มีรายได้น้อย-ปานกลางเห็นว่า จีนคือ “มิตรแท้” ในยามยาก ตรงกันข้ามกับสหรัฐฯ และยุโรปที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ดังคำพูดของ หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ซึ่งกล่าวในที่ประชุมระดับสูงกับอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ว่า “ประเทศที่พัฒนาแล้วไม่กี่รายกว้านซื้อวัคซีนไปหมด ปล่อยให้ประเทศที่กำลังพัฒนาไม่มีวัคซีนใช้”

ในมุมของสหรัฐฯ นโยบาย “การทูตวัคซีน” ถือเป็นโอกาสในการฟื้นฟูภาพลักษณ์ และแสดงให้ทั่วโลกรับรู้ถึงสิ่งที่ระบอบประชาธิปไตยจะให้ได้ พร้อมกันนั้นก็ถือโอกาสตั้งคำถามกับแรงจูงใจของจีน

ไบเดน ออกมากล่าวย้ำเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า การบริจาควัคซีนของสหรัฐฯ “เป็นการให้แบบไม่มีเงื่อนไข และไม่หวังผลตอบแทน เราทำเพื่อรักษาชีวิตคน และเพื่อให้โรคระบาดนี้ยุติลง เพียงแค่นั้น”

การแข่งขันระหว่าง 2 มหาอำนาจในเรื่องวัคซีนอาจถือได้ว่าเป็นประโยชน์ทั้งต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลก เพราะทำให้หลายประเทศมีโอกาสเข้าถึงวัคซีน และสามารถปกป้องชีวิตผู้คนได้มากขึ้น

ฮานนาห์ สวอน จากสถาบันระหว่างประเทศศึกษา เอส.ราชารัตนัม มองว่า สหรัฐฯ อาจก้าวขึ้นมามีบทบาทแซงหน้าจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ไม่ยาก เนื่องจากภูมิภาคนี้ยังมีอัตราการฉีดวัคซีนเฉลี่ยต่ำกว่า 4% ของจำนวนประชากร ยกเว้นสิงคโปร์และกัมพูชา และหลายประเทศมีความต้องการวัคซีนชนิด mRNA ของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทคและโมเดอร์นา เพื่อนำมาฉีดสร้างภูมิคุ้มกันแก่ประชาชน ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดกลายพันธุ์

“รัฐบาลในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะมาเลเซียซึ่งเผชิญการระบาดที่รุนแรงทั้งในระลอกที่ 2 และ 3 ต้องการทำให้ประชาชนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่โดยเร็วที่สุด และยินดีที่จะรับวัคซีนยี่ห้อใดก็ตามที่มาถึงได้เร็ว และด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้นโยบายการทูตวัคซีนของจีนประสบความสำเร็จอย่างมากในอาเซียน” สวอน กล่าว

วัคซีนของจีนและตะวันตกมีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกัน โดยวัคซีนจีนนั้นง่ายต่อการเก็บรักษาและขนส่งในประเทศซึ่งไม่มีระบบห้องเย็นในการควบคุมอุณหภูมิ ในขณะที่วัคซีนไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค และโมเดอร์นาที่สหรัฐฯ บริจาคนั้นเป็นวัคซีนชนิด mRNA ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าในการป้องกันการติดเชื้อและอาการป่วยรุนแรง แต่กระนั้นวัคซีนจีนใช่ว่าจะไร้คุณค่า เพราะมีผลทดสอบยืนยันว่าสามารถยับยั้งอาการป่วยรุนแรงได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าวัคซีนของสหรัฐฯ ย่อมเป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่า หากจำเป็นจะต้องเลือก

“ประสิทธิภาพของวัคซีนเป็นเงื่อนไขที่ทุกประเทศต้องให้ความสำคัญมากขึ้นหากจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และนั่นทำให้วัคซีน mRNA เป็นที่ต้องการมากกว่า” ดร.หวง ระบุ “สหรัฐฯ กำลังจะเข้ามาเปลี่ยนเกม”

ในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ สวอน ชี้ว่ารัฐบาลแต่ละประเทศย่อมเล็งเห็นข้อดีของการมีตัวเลือกวัคซีนที่หลากหลาย แทนที่จะต้องพึ่งพาวัคซีนจีนเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจจะทำให้ปักกิ่งฉวยโอกาสใช้เป็นข้ออ้างกดดันหาผลประโยชน์ในประเด็นละเอียดอ่อนต่างๆ เช่น ข้อพิพาททะเลจีนใต้

“แม้จีนจะไม่ได้ใช้การทูตวัคซีนเพื่อจุดประสงค์ด้านความมั่นคงอย่างเปิดเผย แต่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือ นอกเหนือไปจากการใช้อิทธิพลทางเศรษฐกิจครอบงำ” สวอน กล่าวเสริม

รัฐบาลจีนใช้วิธีส่งมอบวัคซีนให้แก่ชาติผู้รับโดยตรงเป็นส่วนใหญ่ ดังจะเห็นได้ว่าในจำนวนวัคซีนหลายร้อยล้านโดสที่จีนส่งออกไปนั้นเป็นวัคซีนที่เข้าโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลก (WHO) เพียงแค่ 10 ล้านโดส ในขณะที่สหรัฐฯ รับปากจะบริจาควัคซีนอย่างน้อย 580 ล้านโดส และเกือบทั้งหมดจะถูกกระจายผ่านโครงการ COVAX

จุดที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ สหรัฐฯ เน้นการบริจาคมากกว่าขายวัคซีน โดยข้อมูลจาก Bridge Consulting ระบุว่า จีนได้ทำสัญญาจำหน่ายวัคซีนไปแล้วประมาณ 792 ล้านโดส และเป็นการบริจาคให้ฟรีเพียง 25 ล้านโดส

ดร.หวง ระบุว่า ประเทศต่างๆ คงจะต้องพิจารณาข้อดี-ข้อเสียที่จะได้รับจากนโยบายการทูตวัคซีนของสหรัฐฯ และจีน และตัดสินใจเลือกสิ่งที่จะตอบสนองความจำเป็นได้ดีที่สุด ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วรัฐบาลแต่ละชาติก็มักจะพยายามหาจุดที่ “สมดุล” ดังนั้นปัจจัยที่จะเป็นตัวตัดสินน่าจะอยู่ที่ว่า ฝ่ายไหนสามารถส่งมอบวัคซีนให้ได้จริงตามกรอบเวลาที่ตกลงกัน

อนึ่ง หวง มองว่าความต้องการวัคซีนภายในประเทศที่เคยเป็นตัวฉุดรั้งสหรัฐฯ ในช่วงแรกๆ อาจจะกลายเป็นปัญหาสำหรับจีนในอีกไม่ช้า เพราะขณะนี้จีนเองเริ่มให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันแก่พลเมืองของตน ซึ่งน่าจะดำเนินไปจนถึงช่วงปลายปี และนั่นหมายความว่า จำนวนวัคซีนที่จีนจะส่งออกเพื่อแข่งขันกับสหรัฐฯ อาจลดน้อยลงตามไปด้วย

นอกจากจัดหาวัคซีนให้เพียงพอต่อจำนวนประชากรแล้ว หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังหวังที่จะผลิตวัคซีนใช้เองได้ด้วย เพื่อลดการพึ่งพาวัคซีนนำเข้าที่จะทำให้ประเทศสุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการค้า

เวียดนามและไทยต่างมีโครงการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองทางคลินิก โดยในส่วนของเวียดนามนั้นยังหวังที่จะได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีน mRNA เพื่อใช้งานในประเทศด้วย ขณะที่อินโดนีเซียทำสัญญาเป็นหุ้นส่วนกับจีนเพื่อตั้งฐานการผลิตวัคซีนในภูมิภาค ส่วนไบโอเอ็นเทคก็เตรียมตั้งโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในสิงคโปร์ภายในปี 2023

“การบริจาควัคซีนที่เหลือใช้นั้นเป็นเรื่องดีก็จริง แต่ทุกประเทศก็ต้องการมีสิทธิเข้าถึงองค์ความรู้เพื่อที่จะผลิตวัคซีนใช้เองได้ แค่การบริจาคยังไม่เพียงพอ” ลอว์เรนซ์ กอสติน อาจารย์ด้านกฎหมายสุขภาพสากลจากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ให้ความเห็น พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการยกเลิกสิทธิบัตรผลิตวัคซีน และถ่ายโอนเทคโนโลยีการผลิตสู่กลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง